หลักศิลาจารึก (จำลอง)
หลักศิลาจารึก (จำลอง)
ชื่อแหล่งเรียนรู้ หลักศิลาจารึก (จำลอง)
ผู้ริเริ่ม ครูใหญ่ซิบ แสงรุ่ง
ประเภทแหล่งเรียนรู้
ที่ตั้งแหล่งเรียนรู้ โรงเรียนบ้านทับใต้ ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประวัติ
ผู้ริเริ่มคือ ครูใหญ่ซิบ แสงรุ่ง ก่อสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2520-2521
โดยนายกวีพันธ์ ปั้นประเสริฐ (ครูในสมัยนั้น) เป็นผู้เขียน
จุดริเริ่ม
เนื่องจากการสอนในวิชาเรียนมีสอนหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงอยู่เสมอ แต่สอนไปเด็กไม่เห็นภาพจริง เพราะหลักศิลาของจริงอยู่ไกลไม่สามารถนำเด็กส่วนมากไปศึกษาได้ จึงได้จัดทำหลักศิลาจารึกจำลองขึ้น โดยจำลองเป็นภาษาไทยในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เด็กในโรงเรียนบ้านทับใต้และผู้ที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้ โดยเห็นภาพง่ายขึ้นจากหลักศิลาจารึกที่จำลองขึ้นนี้
ข้อมูลทั่วไปของแหล่งเรียนรู้
แปลศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ ๑
ด้านที่ ๑
ประวัติ
“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้ญีงโสง พี่เผื-อ ผู้อ้าย ตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก” (ด้านที่๑ บรรทัดที่๑-๓)
บิดาขอพ่อขุนรามคำแหงชื่อ ศรีอินทราทิตย์ มารดาชื่อ นางเสือง พี่ชายชื่อ บานเมือง พ่อขุนรามคำแหงมีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมดห้าคน เป็นผู้ชายสามคน ผู้หญิงสองคน พี่ชายคนโตของพ่อขุนรามคำแหงได้ตายจากไปตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงยังเป็นเด็กอยู่
สงคราม
“เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้ สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด มา ท่ เมืองตาก พ่อกูไปรบ ขุนสามชน หัวซ้ายขุนสามชนขับมา หัวขวา ขุนสาม ชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกูหนีญญ่าย พ่ายจะแจ้-น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อ ช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อ มาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อ กู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน” (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๓-๑๐)
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงอายุได้สิบเก้าปี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไปออกรบกับขุนสามชน เมื่อทหารปีกซ้ายและปีกขวาของขุนสามชนขี่ช้างจะขับมาชนช้างของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ไพร่พลต่างวิ่งหนีกันชลมุน เพราะว่ากลัวแพ้ แต่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้หนี กลับขึ้นขี่ช้างแล้วเข้าพุ่งชนกับช้างมาสเมือง ซึ่งเป็นช้างของขุนสามชนแทนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จนช้างมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนก็ได้แพ้แล้วหนีเตลิดไป ด้วยเหตุนี้ทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนาพ่อขุนรามคำแหงเป็น พระรามคำแหง
ลักษณะนิสัย
“ชน เมื่อ-อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัว เนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวา-น อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตี หนังวังช้าง ได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมื-อง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอา มาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่ กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึ่งได้เมืองแก่กูทั้ง-กลม” (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๐-๑๘)
พ่อขุนรามคำแหงคอยปรนนิบัติรับใช้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และนางเสืองอย่างจงรักภักดี เมื่อหาสัตว์บกสัตว์น้ำ ผลไม้ต่าง ๆ หรืออะไรที่อร่อยจะนำมาถวายเสมอ ไปคล้องช้างได้ช้างมากี่เชือกก็จะนำมาถวาย แม้ไปตีบ้านตีเมืองอื่นได้เชลยชายหญิง ได้เงินได้ทอง ก็นำมาถวายแด่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตลอด เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สิ้นพระชนม์พ่อขุนบานเมืองครองราชย์ต่อ พ่อขุนรามคำแหงก็ยังคงปฏิบัตตนเช่นเดิม ยังคงคอยปรนนิบัติรับใช้พ่อขุนบานเมืองดั่งเช่นเคยทำกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
เศรษฐกิจ
“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำ มีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูท่าง เพื่- อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใคร จักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า” (ด้านที่๑ บรรทัดที่ ๑๘-๒๑)
สมัยพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยมีความอุดมสมบูรณ์มาก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้เก็บภาษีจากประชาชน ทำให้ใครอยากจะขายอะไรก็ขายกันอย่างสบาย ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า เงิน ทอง
กฎหมาย
“ไพร่ฟ้าหน้าใสลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อ เสื้อ คำมัน ช้างขอ ลูกเมียเยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไท ป่า หมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้า ลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสก ว้างกัน สวนดู แท้แล้ จึ่งแล่งความ แก่ขา ด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมัก ผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือ-ด คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่อยเหนือเฟื้-อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงือ นบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่อยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้เข้าเสือกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี ใน ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่ง แขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้า ปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้อง ข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกะ-ดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ” (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๒ ถึง ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑)
เมื่อมีการทะเลาะกันเกิดขึ้นพ่อขุนรามคำแหงก็จะสอบสวนด้วยความยุติธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้ว่าจะเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็ตาม ราษฎรที่มีเรื่องร้องทุกข์สามารถจะมาสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่ประตูเพื่อให้พ่อขุนรามคำแหงตัดสินแต่ไต่สวนได้ทุกเมื่อ และหากเจ้าเมืองไหนอยากจะตั้งเมืองเป็นของตนเอง พ่อขุนรามคำแหงก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่มีช้าง ก็ให้ช้าง ไม่มีเงินทองก็ให้ไปจนสามารถตั้งเป็นเมืองได้
ด้านที่ ๒
ภูมิประเทศ
“ไพร่ใน เมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม สร้างป่า หมากป่าพลู ทั่วเมือ-งนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลาง ก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพยสี ใสกินดี …ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรี-บูร ได้สามพันสี่ร้อยวา”(ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒-๘)
ราษฎรเมืองสุโขทัยนี้นิยมปลูกต้นไม้กันมาก มีการปลูกหมาก ปลูกพลู ต้นมะพร้าว ต้นขนุน ต้นมะม่วง ต้นมะขามมีมากอยู่ในเมืองสุโขทัย ที่กลางของเมืองมีสระน้ำที่ใสสะอาด สามารถใช้ดื่มกินได้ เมืองสุโขทัยล้อมรอบไปด้วยกำแพงเมืองที่มีทั้งหมดสามชั้น ความยาว ๙.๘ กิโลเมตร
ประเพณีและศาสนา
“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนา ง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรร-ษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐิน เดือนณื่ง จึ่-งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มี พนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอ-ยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐิน เถิงอ-ไรญิก พู้น เมื่อจักเจ้ามาเวียง เรียงกันแต่อไร ญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลอง ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิ-ณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจั-กมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุ-โขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ มีดั่งจักแตก”(ด้านที่ ๒ บรรทัดที่๑-๒๓)
คนในเมืองสุโขทัยนี้ชอบทำทาน ถวายสังฆทาน ทั้งพ่อขุนรามคำแหง หญิงชาววัง และราษฎรทั้งหญิงชายต่างก็มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะถือศีลกันเมื่อถึงวันเข้าพรรษา และเมื่อออกพรรษาก็จะมีการทอดกฐิน ถวายสังฆทาน มีการจัดพานดอกไม้ พานเงิน พานทอง หมอน และเงินอีกสองล้านเบี้ยเพื่อถวายกฐินและสังฆทานทีวัดในป่า ตลอดเมืองจะมีการตีกลอง มีการละเล่นดนตรี ขับร้องเพลง ขับทำนองเสนาะ กันอย่างสนุกสนาน ผู้คนต่างเบียดเสียดกันเข้ามาชมการเล่นเผาเทียนและการเล่นๆไฟ ทางประตูใหญ่ทั้งสี่ประตู
ศาสนสถาน
“กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มี พระพุทธรูปทอง มีพระอัฏรารศ มีพระพุทธรูป พระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอัน ราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ ครูนิสัยมุตก์ มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตก เมืองสุโขทัยนี้ มีอไรญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำ โอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคน ลุกแต่เมืองศรีธ-รรมราชมา ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่ง มน ใหญ่ สูงงามแก่กม มีอัฏฐารศอันณื่ง ลุกยื-น เบื้องตะวันโอก เมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่น มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้-(ง …แต่)ง” (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่๒๓ ถึง ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑)
กลางเมืองสุโขทัยมีการสร้างวัดเล็ก วัดใหญ่ มีพระพุทธรูปองค์เล็ก องค์ใหญ่ ที่แตกต่างกันออกไป มีพระภิกษุที่มีพรรษาตั้งแต่ ห้าพรรษาจำวัดอยู่ มีพระเถร พระมหาเถร อยู่ทางทิศตะวันตก พ่อขุนรามคำแหงจะทำการถวายสังฆทานแก่พระมหาเถรสังฆราชในป่า ซึ่งที่กลางป่านั้นมีเจดีย์กลมใหญ่อยู่ซึ่งมีความสวยงามมากที่สุด มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยยืนหันพระพักตร์ไปทางด้านตะวันออก ถือว่าองค์นี้เป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุด ที่เมืองสุโขทัยมีวัด มีพระ มีป่า มีต้นไม้ต่าง ๆพันธุ์กัน ราษฎรมีบ้านเรือน งดงามดั่งความตั้งใจของพ่อขุนรามคำแหง
ด้านที่ ๓
ภูมิประเทศ
“เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดป สาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมาก ลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่ บ้านเล็ก เบื้-องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหาร ปู่ครู อยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าวป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม มีน้ำโคก” (ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑-๖)
ทางทิศเหนือมีตลาด มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีปราสาท มีป่าไม้ ต้นมะพร้าวต้นหมาก ต้นขนุน มีสวนมีไร่ มีบ้านเรือนของราษฎรตั้งถิ่นฐานกันอยู่ ส่วนทางใต้มีกุฏิอารามของพระ มีทำนบสำหรับทำชลประทาน มีป่ามีต้นไม้มากมายเช่นกัน มีลำธารที่ได้ไหลออกมาจากเขาขพุง
ความเชื่อ
“มีพระขพุง ผีเทพดา ในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผี ในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมือง สุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมือง นี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้น บ่คุ้มบ่ เกรง”(ด้านที่ ๓ บรรทัดที่๖-๑๐)
ภูเขาขพุงนี้ มีความเชื่อกันว่าผีที่สิงอยู่ที่เขานี้มีอำนาจยิ่งกว่าผีทุกตนในละแวกนั้น หากเจ้าเมืองสุโขทัยทำการเซ่นไหว้ บูชาอย่างดี ผีในเขาขพุงจะดลให้บ้านเมืองมั่นคง เพราะว่าผีคุ้มครอง แต่หากเซ่นไหว้ไม่ดีจะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน เพราะว่าผีเขาขพุงไม่คุ้มครอง
ศาสนา
“เมืองนี้หาย ๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำ-แหง เจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตา-ลนี้ ได้สิบสี่เข้า จึ่งให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งหว่าง กลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับ เดือนโอกแปดวัน วั-นเดือนเต็ม เดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครู เถร มหาเถ-ร ขึ้นนั่งเหนือขดานหิน สูดธรรมแก่อุบาสก ฝู-งท่วยจำศีล ผิใช่วันสูดธรรม พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขดา-นหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือ เมือง ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผื-อกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา(ซ้าย)ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง)อรัญญิกแล้-วเข้ามา” (ด้านที่๓ บรรทัดที่ ๑๐-๒๒)
พุทธศักราช ๑๘๓๕ พ่อขุนรามคำแหงครองราชย์สมบัติเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยครบ ๑๔ ปี จึงสั่งให้ช่างทำกระดานหินไปวางไว้กลางป่าตาล ถ้าเป็นวันพระจะมีพระครู พระเถร พระมหาเถร มานั่งเทศนาธรรมให้กับประชาชน แต่หากไม่ใช่วันพระพ่อขุนรามคำแหงจะขึ้นนั่งแล้วให้ประชาชนหรือเจ้าเมืองอื่นที่เป็นประเทศราชมาปรึกษาหารือได้ หากมีเรื่องทุกข์ใจหรือข้องใจ เมื่อถึงวันพระพ่อขุนรามคำแหงจะแต่งช้าง ให้สวยงาม งาประดับไปด้วยทอง ช้างพระที่นั่งของพ่อขุนรามคำแหงชื่อว่า จูราครี
จารึก
“จารึกอันณื่ง มีในเมืองชเลียง สถาบกไว้ ด้วยพระศรีรัตนธาตุ จารึกณื่ง มีในถ้ำชื่อถ้ำ พระราม อยู่ฝั่งน้ำสำพาย จารึกอันณื่ง มีในถ้ำ รัตนธาร ในกลวงป่าตาลนี้ มีศาลาสองอัน อันณื่งชื่อ ศาลาพระมาส อันณื่ง ชื่อพุทธศาลา ขดานหินนี้ ชื่อม-นังศิลาบาตร สถาบกไว้นี้ จึ่งทั้งหลายเห็น”(ด้านที่ ๓ บรรทัดที่๒๒-๒๗ )
จารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียงซึ่งถือว่าเป็นเมืองสำคัญขณะนั้น ที่สร้างไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ จารึกอีกอันหนึ่งมีอยู่ที่ถ้ำพระราม และจารึกอีกอันหนึ่งมีอยู่ในถ้ำรัตนธารที่กลางป่าตาล ซึ่งมีศาลาอยู่สองหลัง หลังหนึ่งชื่อศาลาพระมาส อีกศาลาชื่อพุทธศาลา กระดานหินที่ใช้สำหรับแสดงธรรมชื่อว่ามนังศิลาบาตร ด้านที่ ๔
ประวัติ
“พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็-นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ทั้งมา กาว ลาว แลไทยเมืองใต้หล้าฟ้าฏ (ต่อ) … ไทยชาวอู ชาวของ มาออ-ก”(ด้านที่๔ บรรทัดที่๑-๔)
พ่อขุนรามคำแหงเป็นบุตรของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัย ซึ่งปกครองพวกมา กาว ลาว ไทยชาวอู ชาวของ
ศาสนสถาน
“๑๒๐๗ ศกปีกุน ให้ขุดเอาพระธาตุออกทั้งหลาย เห็น กระทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึ่-งเอาลงฝังในกลางเมืองศรีสัชชนาลัย ก่อพระเจ ดีย์เหนือ หกเข้าจึ่งแล้ว ตั้งเวียงผา ล้อมพระม-หาธาตุ สามเข้าจึงแล้ว เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่ มี”(ด้านที่๔ บรรทัดที่ ๔-๙)
พุทธศักราช ๑๘๒๘ พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุที่มีการฝังไว้ออกมาให้หมด แล้วทำพิธีบูชาใหม่อีกครั้งแล้วจึงนำไปฝังลงที่กลางเมืองศรีสัชชนาลัย แล้วก่อเจดีย์เหนือบริเวณที่ฝังพระธาตุ แล้วสร้างกำแพงหินล้อมรอบพระมหาธาตุ
อักษรไทย
“๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจ ในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่-อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนรามคำแหงนั้นหา เป็นท้าว เป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็น ครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้ บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วย รู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้”(ด้านที่๔ บรรทัดที่๙-๑๖)
เมื่อก่อนไม่มีอักษรไทยจนกระทั่งพุทธศักราช ๑๘๒๑ พ่อขุนรามคำแหงคิดใคร่ครวญอยู่ในใจแล้วประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาใช้ พ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นท้าว เป็นเจ้าเมืองแก่ชาวไทยทั้งหลาย ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่สั่งสอนคนทั่วไปให้รู้บุญรู้บาป แต่คนในเมืองไทยมีความรู้มาก ความกล้าหาญหาใครจะเทียบไม่ได้
อาณาเขต
“อาจปราบฝูงข้า เสิก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันอ-อก รอดสรลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งขอ-ง เถิงเวียงจันทน์เวียงคำ เป็นที่แล้ว เบื้อ(อ)งหัว นอน รอดคณฑี พระบาง แพรก สุพรรณภู-มิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเล สมุทรเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมือ-งฉอด เมือง…น หงสาวดี สมุทรหาเป็-นแดน o เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมื-องม่าน เมืองน…เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวา เป็นที่แล้ว o ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้า-นลูกเมืองนั้น ชอบด้วยธรรมทุกคน”(ด้านที่๔ บรรทัดที่ ๑๖-๒๗)
อาณาเขตของเมืองสุโขทัยกว้างขวาง เพราะสามารถปราบข้าศึกได้มาก ทางด้านตะวันออกมีพื้นที่ถึงเมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองลุม เมืองจาบาย ทางทิศใต้ที่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ถึงนครศรีธรรมราชและชายฝั่งทะเล ทางด้านตะวันตกจะอยู่ถึงเมืองหงสาวดี ทิศเหนือจะอยู่ถึงจังหวัดน่าน หลวงพระบาง พ่อขุนรามคำแหงปกครองและดูแลเมืองเหล่านี้อย่างดี ด้วยความเป็นธรรมมาโดยตลอด
นางสาวบานชื่น ผกามาศ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา